Search

ถูกและดี มีแค่เธอคนเดียว ทดสอบ SUZUKI XL7 CROSSOVER 7 SEAT - ไทยรัฐ

dihyangbagus.blogspot.com

SUZUKI XL7 เป็นรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งยกสูง ใช้โครงสร้างและเครื่องยนต์รวมถึงเกียร์ร่วมกับ Suzuki Ertiga ซึ่งเป็นรถ MINI MPV ที่ขายดิบขายดีในอินโดนีเซีย จากความนิยมดังกล่าวเนื่องจากความอเนกประสงค์ของการใช้งาน ไม่ว่าจะขนผู้โดยสารหรือสัมภาระ ทำให้ Suzuki เพิ่มรุ่น XL7 โดยออกแบบส่วนหน้าใหม่ ปรับดีไซน์ทั่วทั้งคันเพื่อเติมความทันสมัย หน้าตาที่คล้ายรถสเตชั่นแวกอนของ XL7 ดูดีมีสกุล ไฟหน้าและกระจังหน้ามีรูปแบบที่เฉียบคม กระจังหน้าสีดำผสมโครเมียม ไฟหน้า LED ปรับระดับองศาของไฟต่ำได้ พร้อม Daytime Running Light ไฟตัดหมอกหน้า ตกแต่งใต้กันชนด้วยวัสดุสีเงินรอบคัน ซุ้มล้อหุ้มด้วยพลาสติกกันกระแทกสีดำ ล้ออะลูมิเนียมอัลลอยแบบทูโทนขนาด 16 นิ้ว แรคราวหลังคา ไฟท้าย LED พร้อมกับไฟเบรกแนวตั้ง (Light guides) เป็นรถเล็กราคาประหยัดที่มีหน้าตาสวยงาม 

ทรงด้านข้างบ่งบอกถึงความเป็น MINI MPV ที่ถูกดัดแปลงให้เป็น Crossover เสาหน้าเรียวเล็ก มีองศาของความลาดชันที่สมบูรณ์แบบเนื่องจากต้องการให้ทัศนวิสัยมุมมองด้านหน้าของคนขับเปิดโล่ง กระจกหน้าบานใหญ่ช่วยเพิ่มความโปร่งให้กับห้องโดยสาร ประตูบานหลังของ XL7 ใหญ่กว่าบานหน้าเล็กน้อย แนวหลังคามีราวแรคสำหรับยึดติดกับที่เก็บสัมภาระ มือจับที่เปิดประตูสีโครเมียมตัดกับสีตัวถังซึ่งพ่นสีส้ม Rising Orange Pearl Metallic มิติตัวถังของ Suzuki XL7 มีขนาดความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหน้า 1,515 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหลัง 1,530 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 200 มิลลิเมตร รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร

แพลตฟอร์ม HEARTECT เทคโนโลยีแชสซีแบบใหม่ของ Suzuki สำหรับ XL7 ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริง โช้คอัพและเหล็กกันโคลงที่ถูกเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีม ล้ออะลูมิเนียมขอบ 16 นิ้ว ยาง dunlop enasave ec300 ไซส์ 195/60R16 ระบบเบรก ด้านหน้าดิสเบรกพร้อมช่องระบายความร้อน ส่วนเบรกหลังยังคงใช้แบบดรัมเบรก ช่วงล่างได้รับการออกแบบและปรับแต่งอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นความนุ่มนวล ลดอาการโคลงตัวด้วยเหล็กกันโคลงด้านหน้า (Front Stabilizer) ขนาดใหญ่พิเศษ ช่วยลดอาการโคลง

บั้นท้ายของ XK7 คล้าย Ertiga ไฟท้ายแนวตั้งขนานไปกับเสาท้าย ฝาท้ายเปิดด้วยมือ กระจกบานฝาท้ายมีขนาดไม่ใหญ่ ไฟท้ายทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกันด้วยงานพลาสติกสีดำเงา กันชนหลังออกแบบได้อย่างลงตัว พร้อมพลาสติกมัลติรีเฟคเตอร์ กึ่งกลาง ชายล่างของกันชนหลังมีชิ้นงานพลาสติกสีเงินปิดทับอยู่เพื่อความสวยงาม ฝาท้ายเปิดออกด้วยมุมกว้างเพื่อขนสัมภาระได้อย่างจุใจเมื่อพับเบาะแถวที่ 3 หรือหากมีผู้โดยสารในแถวที่ 3 เมื่อเปิดฝาท้ายก็ยังมีพื้นทีเก็บของได้พอสมควรแก่ขนาดของห้องเก็บสัมภาระที่สามารถแปลเปลี่ยนขนาดได้ด้วยการพับเบาะทั้งสองแถว 

การออกแบบภายในคือจุดเด่นของรถรุ่นนี้ ภายในของ XL7 ใช้อุปกรณ์ร่วมกับ Suzuki Ertiga ซึ่งเป็นรถ MINI MPV เบาะนั่งครึ่งผ้าครึ่งหนังสังเคราะห์ เบาะแถวกลางพับได้อย่างหลากหลาย สามารถพับเพื่อเปิดพื้นที่เข้าออกของผู้โดยสารในตำแหน่งแถวที่สาม หรือพับลงหมดร่วมกับการพับเบาะแถว 3 เพื่อเพิ่มพื้นที่ขนของ สำหรับเบาะแถวที่ 3 มีพื้นที่ในการวางเท้าพอเพียงสำหรับคนที่มีสัดส่วนความสูงไม่เกิน 175 เซนติเมตร สามารถนั่งโดยสารได้อย่างสบาย เบาะแถวที่ 3 ออกแบบให้สามารถพับราบไปกับพื้นเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ คอนโซลด้านหน้าตกแต่งด้วยวัสดุลาย Carbon Fiber เดินเส้นด้วยคิ้วโครเมียม ที่ดีงามก็คือแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวที่สองซึ่งติดอยู่บนเพดาน ช่วยกระจายความเย็นจากระบบปรับอากาศได้ดี ห้องโดยสารแบบที่นั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง ออกแบบให้เบาะนั่งแถวที่ 2 ปรับพับแยกเบาะแบบ 60:40 สามารถเลื่อนสไลด์ได้ 240 มิลลิเมตร เพื่อการเข้า-ออกแถวที่ 3 เบาะนั่งแถวที่ 3 ปรับพับแยกเบาะแบบ 50:50 สามารถปรับพับเบาะนั่งได้หลายรูปแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย

มาตรวัดพร้อมจอ LCD แสดงผลแจ้งสถานะข้อมูลสำคัญของตัวรถ เช่น Driving G-Force อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราแรงบิด กำลังของเครื่องยนต์ และข้อมูลอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการขับขี่ มาตรวัดอ่านค่าได้ง่ายและมีความสวยงามน่ามอง ออกแบบคล้ายกับมาตรวัดของ Swift Sport เข็มวัดรอบและวัดความเร็วชี้ดิ่งลงด้านล่างสไตล์สปอร์ตจ๋า จอ MID เลือกแสดงผลได้อย่างหลากหลาย เช่น แรงม้า แรงบิด แรงจี อัตราสิ้นเปลืองและเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ในถังต่อระยะทางที่สามารวิ่งไปถึง แสดงผลนาฬิกา เวลา และอุณหภูมินอกห้องโดยสาร 

Suzuki จัดระบบเชื่อมต่อกับความบันเทิง หน้าจอสัมผัสขนาด 10 นิ้ว มาพร้อมระบบปรับแต่งเสียงและประมวลผลในแบบดิจิทัล (Digital Sound Processor) ฟังก์ชันเชื่อมต่อ Bluetooth การเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน Apple CarPlay, Android Auto รวมไปถึงช่องเชื่อมต่อ USB และ HDMI ที่บริเวณคอนโซลหน้า ช่องจ่ายไฟสำรอง 12V 3 ตำแหน่ง จอกลาง 10 นิ้วยังทำหน้าที่เป็นจอภาพมอนิเตอร์ของกล้องมองหลังขนาดใหญ่ทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อขับถอยหลัง

XL7 ติดตั้งระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติบริเวณห้องโดยสารด้านหน้า ระบบปรับอากาศด้านหลังสำหรับที่นั่งแถวสองและแถวสาม ช่องวางแก้ว 8 ตำแหน่ง พร้อมช่องเป่าลมเย็นบริเวณคอนโซลกลางเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิเครื่องดื่มให้เย็นอยู่ตลอดเวลา

พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันทรง D-Shape ยังทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นระหว่างเบาะกับพวงมาลัย เพื่อช่วยให้การเข้า-ออกที่นั่งสะดวกขึ้น พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ แต่ปรับไกล-ใกล้ไม่ได้ พวงมาลัยมีปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและการสั่งการสมาร์ทโฟน ปุ่มสตาร์ตและดับเครื่องยนต์ Keyless Push Start ระบบ Keyless Entry ประตูเปิด-ปิดได้โดยไม่ต้องกดกุญแจรีโมต และกระจกมองข้างไฟฟ้า

เครื่องยนต์ K15B ขนาด 1.5 ลิตร เบนซิน 4 กระบอกสูบ 4 วาล์วต่อสูบ ปริมาตรความจุ 1462 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ 74.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 85.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5:1 กำลังสูงสุดถึง 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ปรับตั้งกล่องควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ ปรับอัตราทดเกียร์ให้เหมาะกับการทำงานของเครื่องยนต์และการตอบสนองต่อการกดคันเร่ง เครื่องยนต์รองรับเชื้อเพลิง E20

ระบบความปลอดภัย ติดตั้งถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า ระบบเบรก ABS ช่วยป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน พร้อมระบบ EBD ช่วยกระจายแรงเบรกได้อย่างสมดุล เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพในการทรงตัว ESP และการปรับแต่ง module ในพวงมาลัยที่เพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Hold Control) จุดยึดเบาะสำหรับเด็ก ISOFIX และ Top tether กล้องมองภาพพร้อมเซนเซอร์กะระยะในขณะถอยหลัง ป้องกันการโจรกรรมด้วยระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer

XL7 บนเส้นทางภูเขาแสดงออกถึงความตั้งใจในการสร้างรถของ Suzuki แม้จะมีราคาไม่แพงแต่สิ่งที่ Suzuki ใส่มาให้นั้นถือว่าคุ้มเมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่จะต้องจ่ายกับสิ่งที่จะได้รับกลับมา ห้องโดยสารโปร่งโดยเฉพาะการออกแบบกระจกบังลมบานหน้าขนาดใหญ่ตามสไตล์ของรถ MPV (แต่ถูกยกความสูงให้กลายเป็นรถอเนกประสงค์ Crossover) เครื่องยนต์ตัวเล็กความจุ 1.5 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ซึ่งเป็นระบบส่งกำลังที่ใช้มานานแล้วแต่ยังมีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับรูปแบบของรถ Suzuki ในปัจจุบัน กำลัง 105 แรงม้าไม่ได้มากมายอะไร รวมถึงแรงบิด 138 นิวตันเมตรก็แค่เพียงพอต่อการใช้งาน การขับใช้งานในรถราคาประหยัดทั่วไปก็ไม่ได้ใช้กำลังมากนักเนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้ในเมืองเป็นหลัก แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณเอาเจ้า XL7 ออกทางไกลไปวิ่งบนถนนโล่งๆ คุณจะพบกับความสนุกที่แตกต่างจากการคลานด้วยความเร็วต่ำอยู่แต่ในเมือง 

Suzuki XL7 อยู่ในกลุ่มเดียวกับ Mitsubishi Xpander Cross, Honda BR-V, Honda Mobilio และ Toyota Sienta และมันตอบโต้คู่แข่งด้วยการทรงตัวที่ดี กำลังแรงบิดพอตัวกับความสนุกหลังพวงมาลัย อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำได้ที่ 14.2 วินาที เร็วกว่า Xpander Cross และ Honda BR-V นิดหน่อย การเร่งความเร็วเพื่อแซงรถช้าต้องกะระยะให้มีความปลอดภัย เพราะกว่าจะแซงขึ้นหน้าได้ก็หืดจับเอาเรื่อง แต่เมื่อลอยตัวแล้ว XL7 ก็เป็นครอสโอเวอร์ที่เร็วเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เมื่อเทียบกับรถที่มีราคา 7 แสนบาท  

การขับใช้งานในย่านความเร็วเดินทาง ทำออกมาในสไตล์รถบ้านจ่ายกับข้าวที่แอบเอาไปซิ่งเล่นบนทางโล่งๆ เกียร์อัตโนมัติที่มีอัตราทดแค่ 4 สปีด แม้จะมีต้นทุนถูกกว่าเกียร์ CVT ของคู่แข่งแต่ก็ถือว่าพอใช้งานได้ คันเร่งในช่วงออกตัว ถ้ากดจนสุดสามารถรับรู้ถึงการออกตัวที่เร็วใช้ได้ค่อนข้างทันอกทันใจอยู่เหมือนกัน ไม่ได้อืดเป็นเรือเกลืออย่างที่คิด คันเร่งทั้งเบาและไว อัตราทดเกียร์สุดท้ายหรือเกียร์ 4 มีรอบสูงไปนิด แต่ก็เป็นการปรับอัตราทดที่เน้นการขับด้วยความเร็วต่ำในเมืองมากกว่าจะเอามาลากรอบสูงปรี๊ดบนเส้นทางภูเขาแบบที่เห็นในภาพ แม้จะเป็นรถแม่บ้าน แต่ XL7 มีพวงมาลัยไฟฟ้าที่ใช้งานได้ดี ระยะฟรีตรงกลางพอขำๆ ทำให้พวงมาลัยของมันไม่ไวเกินไปในย่านความเร็วสูง น้ำหนักของพวงมาลัยเมื่อขับเร็วก็มีการหน่วงให้หนักมือขึ้นมาอีกนิด พวงมาลัยประสานงานกับช่วงล่างหน้าตาบ้านๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเหล็กกันโคลงด้านหน้าที่เพิ่มขนาดให้ใหญ่กว่าเดิม ทำให้ขับแล้วมั่นใจกว่ารถคู่แข่ง จุดนี้ถือว่าทำออกมาได้ดี 

ช่วงล่างหน้าแมคเฟอร์สัน โช้คอัพ สปริงและกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบคานแข็งทอร์ชั่นบีม เซตมาเน้นความสบายแต่ไม่ย้วยจนโคลงเคลง ซึ่งอาการดังกล่าวจะทำให้เสียอารมณ์เวลาขับ ผมชอบการซับแรงสั่นสะเทือนเมื่อเอาเจ้า XL7 ลงไปวิ่งลุยทางลูกรังเพื่อดูการตอบสนองของช่วงล่าง สปริงทำหน้าที่ได้ในระดับหนึ่งโดยมีโช้คอัพช่วยลดอาการกระเด้งกระดอนเมื่อขับเร็วๆ บนทางวิบากที่มีผิวถนนขรุขระ การวิ่งบนทางลาดยางเรียบๆ ในย่านความเร็วต่ำ คุณจะพบกับความสบายจากการปรับตั้งช่วงล่างที่สอดรับกับรูปแบบของตัวรถ และเมื่อขับเร็วจี๋ ช่วงล่างแบบเด็กๆ ของมันก็ยังรับมือกับสปีดความเร็วได้ดี แค่ไม่เปลี่ยนช่องทางเร็วๆ ใช้พวงมาลัยแบบค่อยเป็นค่อยไปในย่านความเร็วสูง ก็ถือว่าระบบรองรับของ XL7 นั้นไม่ทำให้รู้สึกผิดหวังก็แล้วกัน บนไฮเวย์ในย่านความเร็วเดินทาง 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสบายคือสิ่งที่ XL7 พยายามส่งมอบให้คุณและครอบครัว เป็นรถที่ขับเร็วก็ได้แต่รูปแบบของมันเหมาะกับการขับไปเรื่อยๆ พร้อมครอบครัวเพื่อท่องเที่ยวในวันหยุดตามต่างจังหวัดมากกว่าจะเอามาซิ่งกันชนิดเต็มสปีด

เก็บเสียงได้สมราคาค่าตัว จะเอาเงียบกว่านี้ก็มีแต่แพงกว่าเยอะ XL7 จะเริ่มมีเสียงลมและเสียงยางเมื่อความเร็วทะยานผ่าน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งชิลๆ ในย่าน 110 กิโลเมตร ก็ไม่ได้ดังจนรู้สึกรำคาญ อยู่ในเกณฑ์พอรับได้ ที่ทำให้ได้ยินอย่างชัดเจนก็คือ การกดคันเร่งลงจนสุดแบบคิกดาว์น  เสียงเครื่องยนต์เหมือนถูกทรมาณจะแผดสนั่นออกมาให้คุณได้รับรู้ว่ามันกำลังถูกกระทำชำเราในรอบสูง คุณสามารถลากรอบได้ที่ 5,900 รอบต่อนาที ก่อนที่เกียร์จะเปลี่ยนอัตราทดขึ้นสู่เกียร์สูง ส่วนอัตราสิ้นเปลืองที่ทำได้ต่างจากชาวบ้านก็เนื่องจากใช้ความเร็วสูงทั้งวันเพื่อย้ายโลเคชั่นไปโน่นไปนี้ตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำ ตัวเลข 9.7 กิโลเมตรต่อลิตร เป็นการวิ่งเต็มสปีด ตั้งแต่ออกจากบ้านไปยันเส้นบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ไปจนถึงแถบภูเขาของจังหวัดกาญจนบุรี ถ้าโล่งเมื่อไหร่เป็นใส่กันยับ ทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองดุเดือดเลือดพล่านราวกับหนังบู๊ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร  

เมื่อเทียบความสามารถของ Suzuki XL7 กับรถคู่แข่งอย่าง Mitsubishi Xpander Cross Honda BR-V Honda Mobilio และ Toyota Sienta รถราคาถูกอย่าง XL7 เอาชนะด้วยอัตราเร่ง ความแม่นยำของพวงมาลัยไฟฟ้า และความนุ่มนวลของช่วงล่างที่เน้นนั่งสบายบนทางเรียบและลุยได้เล็กๆ น้อยๆ พอหอมปากหอมคอบนทางลูกรัง ในย่านความเร็วสูงขับแล้ว XL7 ให้ความมั่นใจเหนือกว่า Xpander เก็บเสียง ดีสูสีกัน ส่วนความสวยงามอันนี้ก็แล้วแต่มุมมองของคนที่มีทั้งชอบและเฉยๆหรือไม่ชอบ บางคนอาจมองว่า Xpander Cross ลงตัวกว่าโดยเฉพาะส่วนท้าย ส่วนพวกที่รักการขับและใช้งานจริงจังหันเหไปที่ XL7 จากราคาค่าตัวของมันที่ถูกกว่า Xpander Cross พอสมควร รถของ mitsubishi มีราคาแพงกว่า 80,000 บาท แต่กลับขายดีกว่า ซึ่งน่าจะเกิดจากการออกขายมานานกว่า 2 ปีแล้ว ส่วน XL7 สามารถทำยอดจองได้ดีในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ โดยมีลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ของ Suzuki ให้ความสนใจเป็นจำนวนไม่น้อย จากความคิดเห็นส่วนตัว ผมจะไม่ฟันธงไปทางไหนทั้งนั้น แต่ชอบการเข้าออกจากห้องโดยสารของ XL7 รวมถึงการทรงตัวในย่านความเร็วสูง พื้นที่ภายในและราคาค่าตัวที่ตอบโจทย์ในยุคโควิด แค่นั้น XL7 ก็เอาชนะ Xpander Cross ขาดลอยแล้วครับ.


อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358

Let's block ads! (Why?)




August 18, 2020 at 10:00AM
https://ift.tt/316impL

ถูกและดี มีแค่เธอคนเดียว ทดสอบ SUZUKI XL7 CROSSOVER 7 SEAT - ไทยรัฐ

https://ift.tt/3bS8L8L


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ถูกและดี มีแค่เธอคนเดียว ทดสอบ SUZUKI XL7 CROSSOVER 7 SEAT - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.