คณะกรรมการฯตรวจสอบคดี “บอส อยู่วิทยา” ชุด “วิชา มหาคุณ” ประชุมนัดสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว สรุปรายงานพร้อมเสนอ “บิ๊กตู่” 31 ส.ค.นี้ รายงานแบ่งเป็น 2 ส่วน แนวทางแรกสรุปรายละเอียดว่า สอบพยานกี่ปาก ใครบ้าง มีข้อมูลอย่างไร รวมทั้งลำดับเหตุการณ์ว่า เกิดขึ้นอย่างไร มีผู้ต้องหา 2.มีการทำสำนวนสอบสวนอย่างไร จนเกิดข้อสงสัยทั้งเรื่องการสั่งฟ้อง คดีขาดอายุความ ชงรื้อคดีขับรถเฟอร์รารี่ชนดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ ใหม่ทั้งหมด แต่ทำได้เฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ ในรายงานแจงยิบมีตัวบุคคลในกระบวนการหลายหน่วยงาน หลายระดับที่เกี่ยวข้อง มีความผิดทั้งในส่วนของอาญา วินัย และจริยธรรม ครบทั้ง 3 ด้าน เสนอตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. ป.ป.ท. และดีเอสไอ ประชุมหารือว่าต้องทำอย่างไรต่อไป
กรณีสำนักข่าวต่างประเทศตีแผ่ข่าวอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา อายุ 31 ปี กรณีขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชนรถ จยย. ด.ต.วิเชียรกลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เหตุเกิดเมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555 แล้วหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศจนถูกออกหมายจับ รวมทั้งออกหมายแดงตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) หลังการสั่งคดียืดเยื้อมากว่า 7 ปี ความผิดบางข้อหาหมดอายุความไปแล้ว เหลือแต่คดีหลักขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยตำรวจไม่มีความเห็นแย้งอย่างเงียบๆ ทำให้นายวรยุทธกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังความแตกสร้างกระแสความไม่พอใจให้คนในสังคมอย่างรุนแรง จนหน่วยงานอัยการ ตำรวจ รวมไปถึงรัฐบาล ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขคดีที่เกิดขึ้น ต่อมาคณะทำงานของตำรวจและอัยการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่ผลการตรวจสอบของคณะทำงานที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานเท่านั้น
ความคืบหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเวลา 13.30 น. เมื่อวันที่ 30 ส.ค.นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นัดประชุมคณะกรรมการทั้งคณะ สรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายทั้งหมด เพื่อรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมใช้เวลาสรุปสำนวนนานกว่า 6 ชม.
ต่อมาเวลา 20.00 น. นายวิชา มหาคุณ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมสรุปคดีว่า วันนี้สรุปรายงานที่จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีวันที่ 31 ส.ค. ขณะนี้ยังไม่ได้นัดเวลาแต่พูดคุยกับนายกฯเรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามกำหนดเวลา 30 วัน ส่วนของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขอยืดเวลาออกไปอีก 30 วัน การสรุปรายงานแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ แนวทางแรกเป็นการสรุปรายละเอียดว่าสอบพยานกี่ปาก ใครบ้าง มีข้อมูลอย่างไร รวมทั้งการลำดับเหตุการณ์ว่า เกิดขึ้นอย่างไร ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนมีผู้เสียชีวิต และมีผู้ต้องหา มีการทำสำนวนสอบสวนอย่างไร จนเกิดกรณีข้อสงสัยทั้งเรื่องการสั่งฟ้อง คดีขาดอายุความ
“แม้ว่าเวลาจะผ่านมายาวนาน แต่เรามีเอกสารยืนยัน บางเรื่องเปลี่ยนจากที่เคยสอบมาแล้ว คณะกรรมการได้ความจริงว่า เหตุการณ์บางเหตุการณ์ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ได้ทำขึ้นในวันที่เกิดเหตุ ดังนั้นเพื่อให้เห็นว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไรบ้าง ซึ่งผิดพลาดตั้งแต่ทำสำนวน โดยเฉพาะสิ่งที่คณะกรรมการติดใจมากคือ ทำไมถึงเอาผู้ที่เสียชีวิตซึ่งเป็นตำรวจมาเป็นผู้ต้องหาทั้งที่ตายไปแล้ว ไม่มีสิทธิ์ต่อสู้ ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นกระบวนการตั้งรูปคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยสอบว่า มีข้อน่าสงสัยและพิรุธจำนวนมาก มีการยึดแนวทางตามข้อยุติของ ป.ป.ช.ในส่วนหนึ่ง จากนั้นสอบเพิ่มเติม” นายวิชากล่าว
นายวิชากล่าวต่อว่า ในกระบวนการทั้งหมดเราพบว่าเป็นกระบวนการที่ร่วมมือกันหลายฝ่าย ไม่สามารถเกิดขึ้นจากฝ่ายพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียวหรือพนักงานอัยการคนเดียว ทั้งกระบวนการอัยการและตำรวจไม่ใช่องค์กรไม่ดี แต่ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ หรือไม่ทำหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา หรือผู้ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ผิดพลาดบกพร่อง รายงานจะมีรายละเอียดทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยเฉพาะชื่อหรือบุคคล
“จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการฯคือ ต้องรื้อคดีนี้ใหม่ทั้งหมด มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่าการทำสำนวนคดีในลักษณะสมยอม หรือไม่สุจริตจะเสียกันทั้งระบบ จึงมีข้อเสนอให้เริ่มต้นใหม่ทั้งหมดเพื่อความยุติธรรมและเป็นธรรม แต่คงจะได้เฉพาะบางข้อกล่าวหาที่ยังไม่ขาดอายุความ หรือยังไม่เคยตรวจสอบ หรือยังไม่จัดการให้ชัดเจน บางประเด็นทางตำรวจพยายามแก้ไขโดยใช้มาตรา 147 แต่คณะกรรมการฯเห็นว่า ต้องยิ่งกว่านั้น กระบวนการที่เสนอมีทั้งในส่วนของอาญา วินัย และจริยธรรมครบทั้ง 3 ด้าน ในส่วนบางคดีที่ขาดอายุความไม่สามารถรื้อกลับมาได้ เป็นเรื่องที่ลำบากเพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ เพราะยังไม่เคยมีกรณีแบบนี้ ซึ่งมันรุนแรง” นายวิชากล่าว
เมื่อถามว่า บางกรณีสามารถรื้อคดีขึ้นมาใหม่ จะสามารถเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ต้องแยกไปให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ ส่วนตัวคิดว่าองค์กรยุติธรรมทั้งหมดต้องมาร่วมกันประชุมปรึกษาหารือว่า ต้องทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ ในรายงานไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล เพียงแต่บอกว่า มีใครเกี่ยวข้องอย่างไร จุดไหน พร้อมทั้งเสนอว่า ควรส่งสำนวนไปให้ใครเพื่อดำเนินการ
เมื่อถามย้ำว่า ในรายงานที่เสนอต่อนายกฯจะเอาผิดต่อองค์กรหรือกระบวนการได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า มีทั้งสามารถเอาผิดได้เลย และมีทั้งต้องไปขยายผล ในรายงานเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เรามีเวลาจำกัด ไม่อาจสอบได้ครบถ้วนทุกปาก พยานยังมีอีกที่สามารถจะชี้ผิดถูกอย่างไร สำหรับความผิดที่ตรวจพบ มีทั้งบุคคลธรรมดา บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในกระบวนการมีเยอะ ถ้าถึงจุ0ไหนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใด ต้องไปดำเนินการให้ชัดว่า มีความผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม...
August 31, 2020 at 05:20AM
https://ift.tt/3jrnDP8
ชง ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ฟันช่วย “บอส” วิชาสรุปรายงาน - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3bS8L8L
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ชง ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ฟันช่วย “บอส” วิชาสรุปรายงาน - ไทยรัฐ"
Post a Comment