ราคาหุ้น IRPC ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากยังขาดปัจจัยบวกหนุน แถมครึ่งปีหลังธุรกิจโรงกลั่นยังดูไม่สดใสนัก จากแนวโน้มต้นทุนที่เพิ่มขึ้น...เช่นนี้แล้ว IRPC ยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนอยู่หรือไม่?
*** ราคาอืด ทรงตัวกรอบแคบมานาน
ราคาหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC วันทำการล่าสุด (28 ส.ค.63) ทรงตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 2.42 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ -0.82% มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 173.34% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า
*** โค้งสองขาดทุนลดลง แต่อาจเป็นจุดที่ดีสุดของปีแล้ว!
ในช่วงไตรมาส 1/63 IRPC รายงานขาดทุนสุทธิสูงถึง 8.9 พันล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาส 2/63 ผลประกอบการมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยรายงานขาดทุนสุทธิ 411 ล้านบาท ดีขึ้น 95% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
โดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่าผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ IRPC มีแนวโน้มเป็นจุดสูงสุดของปี 63 แล้ว เนื่องจากราคาสต็อกน้ำมัน (GIM) ในช่วงไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 8.46 เหรียญ/บาร์เรล โดยคาดว่า GIM จะลดลงมาอยู่ที่ 8 เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงครึ่งปีหลัง จากค่าการกลั่นที่อ่อนแอลง
นอกจากนี้ ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบยังปรับตัวสูงขึ้น 1 เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมากกว่าในช่วงไตรมาส 2/63 ที่มีส่วนลด 5 เหรียญ/บาร์เรล
สอดคล้องกับ บล.ทิสโก้ ที่ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของ IRPC จะยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากประโยชน์ของต้นทุนน้ำมันที่ต่ำเหมือนช่วงไตรมาส 2/63 ได้หมดลงแล้ว ขณะที่ ราคาของ Arab Light Premium เพิ่มขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/63 ถึงปัจจุบัน (QTD) เป็น 6.4 เหรียญ/บาร์เรล จากการกลั่นที่สิงคโปร์อ่อนแอ
ประกอบกับ ค่าการกลั่นรวม ที่ยังมีผลขาดทุนของโพลิโพรไพลีน และแนฟทา ขณะที่อัตรากำไรของอโรมาติกส์ยังมีแนวโน้มอ่อนแอลงต่อในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ช่วงไตรมาส 3/63 IRPC จะรายงานขาดทุนสุทธิ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/63 โดยคาดว่า IRPC จะขาดทุนราว 500 - 1,000 ล้านบาท จากต้นทุนน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นเพียง 1 - 2 เหรียญ/บาร์เรลเท่านั้น สาเหตุเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ
*** เสี่ยงขาดทุน 2 ปีต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ในปี 62 IRPC มีผลประกอบการทั้งปีขาดทุนสุทธิ 1.1 พันล้านบาท ลดลงจากปี 61 ที่มีกำไรสุทธิ 7.7 พันล้านบาท หรือ 115% โดย บล.หยวนต้า มองว่าปี 63 ยังเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับ IRPC และยังไม่สามารถพลิกทำกำไรจากการดำเนินงานได้ ซึ่ง IRPC นับว่าเป็นหุ้นที่มีความเปราะบางมากที่สุดในกลุ่มโรงกลั่น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก
เช่นเดียวกับ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ที่ประเมินว่า IRPC จะรายงานขาดทุนสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจาก IRPC มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานต่อรายได้สูงสุดในบรรดาโรงกลั่นไทย
ตารางแสดงประมาณการกำไรสุทธิปี 63
บล. |
กำไรสุทธิปี 63 (ลบ.) |
เอเซีย พลัส |
-3,705 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส |
-7,150 |
ทรีนีตี้ |
-10,000 |
*** สิ่งที่ต้องรีบทำคือลดต้นทุน - เพิ่มกำไร
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา IRPC ได้ลดงบลงทุน 5 ปี (ปี 63 - 67) เหลือเพียง 2.8 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่วางงบลงทุนไว้ 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสเถียรภาพการเงิน สำหรับปีที่บริษัทมีผลประกอบการติดลบอย่างหนัก โดยปี 63 จะใช้งบลงทุน 4.7 พันล้านบาทเท่านั้น (เดิม 6.9 พันล้านบาท)
ขณะที่ บล.บัวหลวง ระบุว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์รอบล่าสุด ผู้บริหาร IRPC แสดงความประสงค์จะลดต้นทุนในการดำเนินงานลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไร โดยคาดว่าการลดต้นทุนจะเริ่มเห็นผลในปี 64 ราว 200 - 300 ล้านบาท และภายในปี 68 ตั้งเป้าลดต้นทุนทั้งหมดรวม 1 พันล้านบาท
โดย บล.หยวนต้า มองว่าการลดต้นทุนดังกล่าว จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ IRPC ให้มีความแข็งแกร่งในระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ บล.บัวหลวง ยังกลับมาระบุต่อว่า IRPC กำลังมองหาโอกาสในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ High-value ที่จะสามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นให้กับบริษัทด้วย
โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า IRPC ได้เข้าร่วมทุนกับ Japan Polypropylene (JPP) โดยถือหุ้น 50% ของ Mytex Polymer Thailand ทำธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติดชนิดพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการจัดจำหน่ายของ Mytex ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานได้ราว 150 - 200 ล้านบาท เมื่อเพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่
*** โบรกฯ ส่วนใหญ่แนะนำ"ถือ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำเพียง"ถือ" เนื่องจากมีความกังวลผลประกอบการครึ่งปีหลังที่อาจยังทรงตัวจากครึ่งปีแรก จากต้นทุนโรงกลั่นที่อยู่ในระดับสูง
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม(บ.) |
ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี |
ถือ |
2.50 |
ทรีนีตี้ |
ถือ |
2.50 |
หยวนต้า |
เก็งกำไร |
2.60 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส |
ถือ |
2.70 |
โนมูระ พัฒนสิน |
ซื้อเก็งกำไร |
2.75 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง |
ถือ |
2.80 |
ราคาเฉลี่ย |
2.64 |
ต้องบอกว่าราคาหุ้น IRPC แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบมาร่วม 1 เดือนแล้ว เนื่องจากยังขาดปัจจัยหนุนราคาหุ้น ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังผลการดำเนินงานยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้หรือไม่ ทำให้ปีนี้ IRPC อาจหมดเสน่ห์ไปแล้ว...
0 Response to "IRPC หมดเสน่ห์...พื้นฐานปีนี้ดีสุดแค่"ถือ" - efinanceThai"
Post a Comment